หน้าหลัก
มิถุนายน 20, 2021247 3

แม้จะรู้ตัวหรือไม่ แต่เชื่อว่านักอ่านหลายคนน่าจะเคยมีช่วงเวลานี้กันทั้งนั้น เมื่อจู่ๆ วันหนึ่งเรารู้สึกไม่อยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หรือไม่มีเล่มไหนที่ดึงดูดความสนใจจากเราได้อีกต่อไป ภาวะที่เรียกว่า ‘Reading Slump’ หรือจุดตกต่ำของการอ่านหนังสือ จึงถือเป็นฝันร้ายที่นักอ่านทั่วโลกไม่อยากเผชิญ เพราะไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มนั้นๆ ไม่ดี น่าเบื่อ หรือไม่สนุก แต่เป็นเพราะตัวเราเองที่ ‘ไม่สามารถ’ อ่านมันได้เลยต่างหาก


ซึ่งภาวะหมดไฟในการอ่านหนังสือที่ว่าก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงอยากชวนทุกคนมาลองสังเกตตัวเองดูตามนี้

  1. เพิ่งอ่านหนังสือที่ดีมากๆ มาเล่มหนึ่ง จนรู้สึกว่าไม่สามารถหาหนังสือที่ดีเท่านี้ได้อีก
  2. ตรงข้ามกับข้อแรกก็คือ เพิ่งอ่านหนังสือเล่มที่แย่มากๆ มาเล่มหนึ่ง จนรู้สึกว่าไม่เชื่อใจหนังสือเล่มอื่น หรือไม่กล้าเปิดใจอ่านหนังสือของนักเขียนคนอื่น
  3. เหนื่อยเกินไปและมีภาระมากมายที่ต้องทำ จนไม่อยากหยิบหนังสือมาอ่าน เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ
  4. ซื้อหนังสือมาหลายเล่ม เพื่อจะบังคับให้ตัวเองอ่านหนังสือมากขึ้น แต่กลับรู้สึกกดดันจนไม่สามารถเริ่มอ่านได้สักเล่ม หรือไม่มีความสุขเพราะคิดว่าตัวเองยังอ่านหนังสือไม่มากพอ
  5. รู้สึกว่าต้องอ่านหนังสือทุกเล่มบนชั้น new releases เพราะกลัวตกข่าวหรือตกเทรนด์ (fear of missing out) มักจะพบได้ในบล็อกเกอร์ที่รีวิวหนังสือ หรือคนที่เริ่มนำงานอดิเรกมาเป็นอาชีพ
  6. ก็แค่อ่านไม่ได้ แค่นั้น แม้จะพยายามแล้วก็ตาม

จะเห็นว่าบางสาเหตุคล้ายกับองค์ประกอบที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้แก่ ความเหนื่อยล้าที่ท่วมท้นจนเกินไป ความรู้สึกไร้ประสิทธิภาพ และการขาดความสำเร็จ ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับการอ่านเท่านั้น แต่งานอดิเรกอื่นๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี หรือวาดรูป ก็สามารถเดินมาถึงจุดตกต่ำนี้ได้เหมือนกัน หรืออย่างภาวะ gaming slump ที่เหล่าเกมเมอร์จู่ๆ ก็ไม่มีแรงหรือความอดทนที่จะเล่นเกมต่อได้อีก แม้จะหาเกมใหม่ๆ เจ๋งๆ มาเล่นให้รู้สึกตื่นเต้นแล้วก็ตาม แต่กลับไม่สามารถเล่นได้นานหรือเล่นได้จนจบเกม

ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเรียกรวมๆ ว่าเป็น ‘Hobby Burnout’ หรือภาวะหมดไฟในงานดิเรก เมื่อวันหนึ่งเรารู้สึกกดดันที่จะต้องทำงานอดิเรก หรือคิดว่าต้องทำออกมาให้เพอร์เฟ็กต์ จนหลงลืมว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรจะสร้างความผ่อนคลายให้กับเรามากกว่า

รวมถึงช่วงสถานการณ์โรคระบาดก็ยิ่งทำให้งานอดิเรกบางอย่างกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น เนื่องจากบางคนชอบทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน เช่น เดินดูพิพิธภัณฑ์ อาร์ตแกลอรี่ หรือเดินถ่ายรูปตามท้องถนน และเมื่องานอดิเรกนี้หายไป พวกเขาจึงรู้สึกว่างเปล่า เพราะไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี พอทำในสิ่งใหม่ๆ ก็รู้สึกไม่ใช่สำหรับตัวเอง


แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ภาวะหมดไฟในงานอดิเรกจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย และขาดแรงบันดาลใจ จนวันหนึ่งเราไม่สามารถทำสิ่งที่เคยรักและชื่นชอบได้อีกต่อไป และนับว่าเป็นภาวะที่น่ากังวลพอสมควร เพราะงานอดิเรกถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่สร้างความสุข ความผ่อนคลาย และเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับมนุษย์ แต่เมื่อกิจกรรมนี้หายไปหรือไม่สามารถทำได้อีก จึงมีแนวโน้มที่เราอาจจะเจอกับภาวะซึมเศร้า หดหู่ หรือรู้สึกว่าชีวิตไร้คุณค่า ไร้ความหมายไปเลยก็ได้

version 1.0.5-4812171c